อวสาน-o-net-ป-6-และ-ม-3

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบาย ยกเลิกการสอบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต นั้น ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แล้ว โดยนายณัฏฐพล ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปศึกษาผลกระทบ ข้อดี ข้อเสียที่จะเกิดขึ้นหากยกเลิกการสอบโอเน็ต ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การยกเลิกโอเน็ตไม่ส่งผลกระทบกับการเรียนการสอน สพฐ.เพียงแต่ต้อง ปรับปรุง ระเบียนแสดงผลการเรียนหรือ ปพ.1 โดยตัดในส่วนของคะแนนโอเน็ตออกเท่านั้น

นายอัมพร กล่าวต่อว่า ดังนั้น การสอบโอเน็ตประจำปีการศึกษา 2563 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งจะสอบในช่วงปี 2564 จะยกเลิก ส่วนการสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้น ม.6 นั้น ปลัดศธ. รับจะไปแจ้งกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อให้รับทราบรายละเอียด โดยการสอบโอเน็ตปีการศึกษา 2563 ให้คงไว้ก่อน เพราะนักเรียนต้องใช้คะแนนในการเข้าเรียนต่อสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ กำหนดองค์ประกอบในการเข้าศึกษาต่อไว้แล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทัน โดยให้ไปยกเลิกในปี2565 ทั้งนี้อำนาจในการยกเลิกการสอบโอเน็ตหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ สพฐ. แต่ขึ้นอยู่กับสถาบันทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ (สทศ.) ที่ต้องประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งในฐานะหน่วยงานผู้จัดสอบ

“สำหรับ สพฐ.การสอบโอเน็ตหรือไม่ ไม่ได้มีผลกระทบกับการพัฒนาการศึกษา ส่วนมหาวิทยาลัยเอง ก็ไม่ได้ใช้โอเน็ตในการเข้าศึกษาต่อในสัดส่วนที่สูงมากนัก แต่จะไปเน้นใช้คะแนนสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT คะแนนการดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT และคะแนนสอบวิชาสามัญ 9 วิชามากกว่า ดังนั้น แม้จะยกเลิกไปก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในภาพรวม ส่วนการใช้โอเน็ตพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างๆ นั้น ทุกวันนี้ การจัดการเรียนการสอนจะยึดเด็กเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว แน่นอนว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโรงเรียนแต่ละแห่งยังคงมีอยู่ เพราะบริบทของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน โดย สพฐ.จะเน้นให้โรงเรียนพัฒนาการศึกษาตามศักยภาพ ซึ่งแต่ละแห่งจะมีการประเมินผลการจัดการศึกษาของตัวเองอยู่แล้ว และหาก สพฐ. ต้องการประเมินผลการจัดการศึกษาในภาพรวม ก็อาจใช้วิธีสุ่มสอบ ลักษณะเดียวกับการสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติหรือPISA โดยใช้ข้อสอบที่ สพฐ.มีอยู่เป็นตัววัด” นายอัมพรกล่าว



ข้ามไปยังทูลบาร์